Cooperative Education
สหกิจศึกษา
สหกิจศึกษาคืออะไร
สหกิจศึกษา (Co-operative Education) คือ การศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในหน่วยงาน ซึ่งเรียกว่า สถานประกอบการหรือองค์กรผู้ใช้บัณฑิต อย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนการสอนกับการทำงานอย่างเป็นระบบ (Work Integrated Learning : WIL) โดยนักศึกษามีการปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต จำนวนไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ ซึ่งองค์กรผู้ใช้บัณฑิตจะเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ ให้ความร่วมมือแบบเต็มเวลา ทั้งนี้นักศึกษาจะเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต (มิใช่นักศึกษาฝึกงาน) นักศึกษาสหกิจศึกษาอาจจะได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนอื่นตามความเหมาะสมจากองค์กรผู้ใช้บัณฑิต
นักศึกษาที่เลือกเรียนรายวิชาสหกิจศึกษาทุกคน จะต้องแจ้งความประสงค์ที่สาขาวิชาหรือภาควิชาของตนเอง และลงทะเบียนวิชาสหกิจศึกษา จากนั้นมหาวิทยาลัยจะได้จัดเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานทั้งในด้านเนื้อหาวิชาชีพ ด้านเทคโนโลยี บุคลิกภาพ และการวางตัวในการทำงาน เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาติดตามให้คำปรึกษาแนะนำและประสานความร่วมมือกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งจะมีพี่เลี้ยงเป็นผู้คอยดูแลนักศึกษา ในขณะเดียวกันนักศึกษาจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์และการคัดเลือกจากองค์กรผู้ใช้บัณฑิตที่มีความประสงค์จะรับนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงาน
สหกิจศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ/องค์กรผู้ใช้บัณฑิต อันจะเป็นการฝึกการประยุกต์ใช้ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี ให้สามารถนำไปใช้ในการทำงานจริง เป็นการเติมเต็มการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาเพื่อการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา
- เพื่อเสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์และศักยภาพในการทำงานจริงให้แก่นักศึกษาก่อนสำเร็จ การศึกษาอย่างเป็นระบบ
- เพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
- เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งานทำ และเปิดโอกาสให้องค์กรผู้ใช้บัณฑิต ได้คัดเลือกบุคลากรที่ต้องการตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน
- เพื่อลดต้นทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
นักศึกษาได้อะไร :
- ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์วิชาชีพ ตามสาขาวิชาที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
- ได้มีโอกาสเรียนรู้ลักษณะงานและเลือกงานในสายวิชาชีพของตนเองได้ถูกต้อง
- ได้เสริมทักษะด้านการนำเสนอ การสื่อสารข้อมูล การมีมนุษยสัมพันธ์และเกิดการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการอื่น ๆ จากองค์กรผู้ใช้บัณฑิต
- มีความพร้อมรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
- มีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานก่อนสำเร็จการศึกษามากกว่านักศึกษาที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน
- เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการทำงาน
องค์กรผู้ใช้บัณฑิตได้อะไร :
- ได้ความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการศึกษา
- ได้ภาพลักษณ์ที่ดีด้านการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
- ได้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี (2 เท่า) (พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547)
- ลดการจ้างพนักงานประจำ เพราะว่ามีนักศึกษาทำงานเสริมตลอดปี ซึ่งเป็นผู้มีความกระตือรือร้นและพร้อมที่จะรับการพัฒนา
- มีโอกาสของการเพิ่มมูลค่า หรือลดต้นทุน ให้กับองค์กรได้
- มีช่องทางการคัดเลือกพนักงานประจำที่พร้อมปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ลดเวลาและต้นทุนในการรับสมัครและสอนงาน
สถาบันการศึกษาได้อะไร :
- ความสัมพันธ์อันดีและเกิดเป็นความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต
- ได้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
- ได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน
- ได้งานวิจัย และการบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
บทบาทผู้เกี่ยวข้อง
นักศึกษา
เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 หรือ 4 มีระดับผลการเรียนและสอบผ่านรายวิชาพื้นฐานตามที่สาขาวิชากำหนด ผ่านการสัมภาษณ์เบื้องต้นและได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ประจำสาขาวิชา หรืออาจารย์ที่ปรึกษา มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยผิดระเบียบวินัยนักศึกษา ผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงาน เช่น พื้นฐานการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคลิกภาพ การเตรียมความพร้อมในการทำงาน มีวุฒิภาวะและสามารถพัฒนาตนเองได้ดีเพียงพอที่จะปฏิบัติงานในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ทั้งนี้ นักศึกษาสหกิจศึกษา จะต้องทำรายงานวิชาการ จำนวน 1 เล่ม ในหัวข้อและเนื้อหาที่องค์กรผู้ใช้บัณฑิต และอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาในสาขาวิชา/ภาควิชากำหนด
สถาบันการศึกษา
เตรียมความพร้อมของนักศึกษา จัดหาตำแหน่งงาน และอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับการนิเทศก์นักศึกษา ร่วมกำหนดหัวข้อโครงงานกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต และประเมินผล
องค์กรผู้ใช้บัณฑิต
กำหนดตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่ง กำหนดหัวข้อโครงงาน จัดให้มีผู้ดูแลนักศึกษา ซึ่งเรียกว่า พนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่นักศึกษาตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน ประสานกับอาจารย์ที่ปรึกษา ประเมินผล และกำหนดค่าตอบแทนตามสมควร ตามนโยบายของแต่ละองค์กรผู้ใช้บัณฑิต (หากไม่มีค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความสมัครใจของนักศึกษา และการยอมรับของอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาในสาขาวิชา)